.

.

วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ความแตกต่างทางโครงสร้าง ของภาษาไทยกับภาษาอังกฤษที่มีผลต่อการแปล

ความแตกต่างทางโครงสร้าง
ของภาษาไทยกับภาษาอังกฤษที่มีผลต่อการแปล

อมรา  ประสิทธิ์รัฐสินธุ์

            โครงสร้างเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเรียนรู้ภาษาหรือการใช้ภาษา  โครงสร้างเป็นสิ่งที่บอกเราว่า เราจะนำคำศัพท์ที่เรารู้มาประกอบกันหรือเรียงกันอย่างไรจึงจะเป็นที่เข้าใจของผู้ที่เราสื่อสารด้วย  ในการใช้ภาษาใดก็ตาม  ถ้าเราไม่รู้หรือไม่เข้าใจโครงสร้างของภาษานั้น  เราจะล้มเหลวในการสื่อสาร  คือฟังหรืออ่านไม่เข้าใจ  และพูดหรือเขียนให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้
ในบทความนี้  ผู้เขียนต้องการแสดงให้เห็นความแตกต่างทางโครงสร้างของภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่มักก่อปัญหาแก่นักแปล  และชี้ให้เห็นว่านักแปลจะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร  ดังนี้

1.      ชนิดของคำและประเภททางไวยากรณ์ที่สำคัญ
ชนิดของคำ (parts of speech) เป็นสิ่งสำคัญในโครงสร้าง  เพราะเมื่อเราสร้างประโยคเราต้องนำคำมาเรียงร้อยกันให้เกิดความหมายที่ต้องการสื่อสาร  ประโยคจะถูกไวยากรณ์เมื่อเราใช้ชนิดของคำตรงกับหน้าที่ทางไวยากรณ์
ประเภททางไวยากรณ์ (grammatical category)  หมายถึงลักษณะสำคัญในไวยากรณ์ของภาษาใดภาษาหนึ่ง  ซึ่งมักสัมพันธ์กับชนิดของคำ  ประเภททางไวยากรณ์บางประเภทเป็นสิ่งสำคัญในภาษาหนึ่ง  แต่อาจไม่สำคัญเลยในอีกภาษาหนึ่งก็ได้  ในที่นี้  จะขอกล่าวถึงประเภททางไวยากรณ์ที่สำคัญสำหรับการเทียบภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ  โดยจะเรียงลำดับตามชนิดของคำที่เกี่ยวข้อง
1.1    คำนาม
เมื่อเปรียบเทียบคำนามในภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ  พบว่าประเภททางไวยากรณ์ที่เป็นลักษณะสำคัญหรือลักษณะที่มีตัวบ่งชี้ (marker) ในภาษาอังกฤษแต่เป็นลักษณะที่ไม่สำคัญหรือไม่มีตัวบ่งชี้ในภาษาไทย  ได้แก่
1.1.1        บุรุษ (person)
บุรุษ เป็นประเภททางไวยากรณ์ที่บ่งบอกว่าคำนามหรือสรรพนามที่นำมาใช้ในประโยคหมายถึงผู้พูดหรือบุรุษที่ 1 (I)  ผู้ที่ถูกพูดด้วยหรือบุรุษที่ 2 (you) และผู้ที่ถูกพูดถึงหรือบุรุษที่ 3 (he/she) นอกจากนี้  ภาษาอังกฤษยังมีการเติม –s ที่กริยาของประธานที่เป็นบุรุษที่ 3 เอกพจน์ แต่ในบุรุษอื่นไม่มีการเติม   สำหรับภาษาไทยไม่มีการแสดงความต่างเช่นนี้
1.1.2        พจน์ (number)
พจน์ เป็นประเภททางไวยากรณ์ที่บ่งบอกจำนวน  ว่าเป็นจำนวนเพียงหนึ่ง  หรือจำนวนมากกว่าหนึ่ง  ภาษาอังกฤษมีการบ่งชี้พจน์โดยใช้  ตัวกำหนด (determiner) ที่ต่างกัน  เช่น ใช้ a/an นำหน้าคำนามเอกพจน์เท่านั้น  และแสดงพหูพจน์โดยการเติมหน่วยท้ายศัพท์ –s แต่ภาษาไทยไม่มีการบ่งชี้เช่นนั้น
1.1.3        การก (case)
การก คือประเภททางไวยากรณ์ของคำนามเพื่อบ่งชี้ว่าคำนามคำนั้นเล่นบทบาทอะไร  คือสัมพันธ์กับคำอื่นในประโยคอย่างไร  การกในภาษาอังกฤษแสดงโดยการเติม `s ที่หลังคำนาม  และคำที่หมายถึงเจ้าของจะอยู่หน้าคำที่หมายถึงสิ่งมีเจ้าของ 
1.1.4        นามนับไม่ได้ กับ นามนับได้ (countable and uncountable)
คำนามในภาษาอังกฤษต่างจากภาษาไทยในเรื่องการแบ่งเป็น  นามนับได้ และนับไม่ได้ ความแตกต่างดังกล่าวแสดงโดยการใช้ตัวกำหนด a/an กับนามที่นับได้ที่เป็นเอกพจน์  และเติม –s ที่นามนับได้พหูพจน์  ส่วนนามที่นับไม่ได้ต้องไม่ใช้ a/an  และไม่ต้องเติม –s   ในภาษาอังกฤษ  มีการใช้หน่วยบอกปริมาณหรือปริมาตรกับคำนามที่นับไม่ได้เป็นหน่วยเหมือนคำนามนับได้
1.1.5        ความชี้เฉพาะ (definiteness)
ผู้พูดภาษาอังกฤษทุกคนจะเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างนามชี้เฉพาะกับนามไม่ชี้เฉพาะตั้งแต่เริ่มหัดพูดภาษาอังกฤษ  เครื่องหมายที่จะบ่งชี้ความชี้เฉพาะคือตัวกำหนด  ได้แก่ a/an ซึ่งบ่งชี้ความไม่ชี้เฉพาะ (indefiniteness) และ the ซึ่งบ่งชี้ความชี้เฉพาะ (definiteness)
1.2    คำกริยา
คำกริยานับได้ว่าเป็นหัวใจของประโยค  การใช้กริยาซับซ้อนกว่าคำนาม  เพราะมีประเภททางไวยากรณ์ต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องหลายประเภท  ดังนี้
      1.2.1        กาล (tense)
คำกริยาในภาษาอังกฤษต้องแสดงกาลเสมอว่าเป็นอดีต  หรือไม่ใช่อดีต  ผู้พูดภาษาอังกฤษไม่สามารถใช้คำกริยาโดยปราศจากการบ่งชี้กาล  เพราะโลกทัศน์ของพวกเขาแยกความแตกต่างระหว่างเหตุการณ์ในอดีตกับไม่ใช่อดีต (ซึ่งแยกต่อไปได้อีกเป็นปัจจุบันและอนาคต)
1.2.2        การณ์ลักษณะ (aspect)
การณ์ลักษณะ  หมายถึงลักษณะของการกระทำหรือเหตุการณ์  ในภาษาอังกฤษ  การณ์ลักษณะที่สำคัญได้แก่  การณ์ลักษณะต่อเนื่อง หรือ การณ์ลักษณะดำเนินอยู่ (continuous aspect หรือ progressive aspect)  ซึ่งแสดงโดย  verb to be + present participle (-ing) และการณ์ลักษณะเสร็จสิ้น (perfective aspect) ซึ่งแสดงโดย verb to have + past participle   สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในภาษาอังกฤษคือ ถ้าประโยคมีกริยาหลายตัว กาลของกริยาเหล่านั้นต้องสัมพันธ์กันในเรื่องเวลา
1.2.3        มาลา (mood)
มาลา  เป็นประเภททางไวยากรณ์ที่ใช้กับคำกริยา  มีหน้าที่แสดงว่าผู้พูดมีทัศนคติต่อเหตุการณ์หรือเรื่องที่พูดอย่างไร  เช่น ประโยคสมมติที่เป็นไปไม่ได้  ประโยคคาดคะเน  มาลาในภาษาอังกฤษแสดงโดยการเปลี่ยนรูปคำกริยา  หรืออาจแสดงโดยคำช่วยกริยาที่เรียกว่า modal auxiliaries
1.2.4        วาจก (voice)
วาจก  เป็นประเภททางไวยากรณ์ที่บ่งชี้ความสัมพันธ์ระหว่างประธานกับการกระทำที่แสดงโดยคำกริยาว่าประธานเป็นผู้กระทำ (กรรตุวาจก)  หรือประธานเป็นผู้ถูกกรทำ (กรรมวาจก)  ในภาษาอังกฤษ  ประโยคส่วนใหญ่จะมีกริยาเป็นกรรตุวาจก  แต่ในบางกรณี  กริยาจำเป็นต้องอยู่ในรูปกรรมวาจก  เพราะผู้พูดอาจไม่ต้องการระบุผู้กระทำ  แต่ต้องการเน้นผู้ถูกกระทำแทน  ในการแปลระหว่างภาษาอังกฤษกับไทย  ประโยคกรรมในภาษาอังกฤษไม่จำเป็นต้องเท่ากับประโยคกรรมในภาษาไทยเสมอไป
1.2.5        กริยาแท้กับกริยาไม่แท้ (finite vs. non-finite)
คำกริยาในภาษาอังกฤษในหนึ่งประโยคจะมีกริยาแท้ได้เพียงตัวเดียวเท่านั้น  ซึ่งมีรูปแบบที่เห็นได้ชัดจากการที่ต้องลงเครื่องหมายเพื่อบ่งชี้ประเภททางไวยากรณ์ต่างๆ ส่วนกริยาอื่นๆ ในประโยคต้องแสดงรูปให้เห็นชัดว่าไม่ใช่กริยาแท้  ในการแปลจากภาษาอังกฤษเป็นไทย  ผู้แปลอาจจำเป็นต้องขึ้นประโยคใหม่  นั่นหมายความว่าทำกริยาไม่แท้ให้เป็นกริยาแท้
                  1.3    ชนิดของคำประเภทอื่น
ชนิดของคำประเภทอื่นนอกจากคำนามกับคำกริยามีความซับซ้อนน้อยกว่านามและกริยา  และไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการแปลมากเท่ากับนามกับกริยา  อย่างไรก็ตาม  คำที่เป็นปัญหาในตัวศัพท์เองได้แก่คำบุพบท (preposition) ซึ่งผู้แปลต้องหมั่นสังเกตบุพบทที่ใช้ต่างกันในสองภาษา
คำ adjective ในภาษาอังกฤษก็อาจเป็นปัญหาสำหรับคนไทย  เพราะต้องใช้กับ verb to be เมื่อทำหน้าที่เป็นภาคแสดงของประโยค  นอกจากนั้น  adjective ที่เรียงกันหลายคำเพื่อขยายคำนามที่เป็นคำหลัก  เมื่อแปลเป็นไทย  อาจมีปัญหาเพราะในภาษาไทยคำขยายอยู่หลังคำหลัก  ตรงข้ามกับในภาษาอังกฤษ  ทำให้เรียงคำขยายแบบภาษาอังกฤษไม่ได้
2.      หน่วยสร้างที่ต่างกันในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
หน่วยสร้าง (construction) หมายถึงหน่วยทางภาษาที่มีโครงสร้าง  เมื่อเปรียบเทียบหน่วยสร้างในภาษาไทยและภาษาอังกฤษพบว่ามีหน่วยสร้างที่แตกต่างกัน  ซึ่งผู้แปลควรให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษดังนี้
2.1  หน่วยสร้างนามวลี : ตัวกำหนด (Determiner) + นาม (อังกฤษ) vs. นาม (ไทย)
นามวลีในภาษาอังกฤษต้องมีกำหนด (Determiner) อยู่หน้านามเสมอถ้าคำนามนั้นเป็นนามนับได้และเป็นเอกพจน์ (ยกเว้นนามที่เป็นชื่อเฉพาะและสรรพนาม) (ดู1.1.4) นอกจากนั้น ตัวกำหนดยังนำหน้านามเพื่อบ่งชี้ความชี้เฉพาะของคำนาม (ดู 1.1.5) ในภาษาอังกฤษ  ดังนั้นเรามักพบเสมอว่าในขณะที่นามวลีในภาษาอังกฤษมีตัวกำหนดปรากฏ  แต่ภาษาไทยไม่มี
2.2  หน่วยสร้างนามวลี : ส่วนขยาย + ส่วนหลัก (อังกฤษ) vs. ส่วนหลัก + ส่วนขยาย (ไทย)
ในหน่วยสร้างนามวลี  ภาษาอังกฤษวางส่วนขยายไว้ข้างหน้าส่วนหลัก  เวลาแปลจากอังกฤษเป็นไทย  ถ้าส่วนขยายไม่ยาวเราเพียงแต่ย้ายที่ส่วนขยายจากหน้าไปหลังก็ได้  แต่หากส่วนขยายยาว  หรือซับซ้อนผู้แปลอาจแปลเป็น relative clause หรือขึ้นประโยคใหม่โดยเก็บใจความ
2.3  หน่วยสร้างคำวาจก (passive constructions)
ในภาษาอังกฤษหน่วยสร้างกรรมวาจกมีรูปแบบเด่นชัด  และมีแบบเดียว คือ ประธาน/ผู้รับการกระทำ + กริยา—verb to be + past participle + (by + นามวลี/ผู้กระทำ)  กล่าวคือ ในภาษาไทยมักเป็นกรรตุวาจก  ส่วนในภาษาอังกฤษเป็นกรรมวาจก
           2.4  หน่วยสร้างประโยคเน้น subject (อังกฤษ) กับประโยคเน้น topic (ไทย)
ภาษาไทยได้ชื่อว่าเป็นภาษาเน้น topic (topic-oriented language) ตรงข้ามกับภาษาอังกฤษ  ซึ่งเป็นภาษาเน้น subject (subject-oriented language)
2.5  หน่วยสร้างกริยาเรียงในภาษาไทย (serial verb construction)
            หน่วยสร้างในภาษาไทยที่ไม่มีในภาษาอังกฤษและมักเป็นปัญหาในการแปลได้แก่ หน่วยสร้างกริยาเรียง ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ประกอบด้วยกริยาตั้งแต่สองคำขึ้นไปเรียงต่อกันโดยไม่มีอะไรคั่นกลางยกเว้นกรรมของกริยาที่มาข้างหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

.

.